ไรฝุ่น คืออะไร?
ไรฝุ่น (Dust Mites) เป็นแมงในตระกูลเดียวกับเห็บและแมงมุม มีขนาดเล็กมาก จนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มักอาศัยอยู่ตามฝุ่นภายในบ้าน ซึ่งสามารถอยู่ได้ทุกสภาพอากาศ แต่จะเจริญเติบโตได้ดี ในสภาพแวดล้อมอุ่นชื้น หรือที่อุณหภูมิประมาณ 25 – 30 องศาเซลเซียส โดยมักกินเซลล์ผิวหนังที่ถูกผลัดออกของมนุษย์เป็นอาหาร
ไรฝุ่น จะไม่ต่อยหรือกัดคน บางคนที่เกิดอาการคันหรือระคายเคืองบริเวณผิวหนัง ไม่ได้เกิดจากไรฝุ่นกัด แต่เกิดจากการไปสัมผัสถูกของเสียของไรฝุ่น จนเกิดอาการคัน เนื่องจากภายในของเสียเหล่านั้น มีสารที่สามารถก่อโรคภูมิแพ้แก่คนได้ แต่ในบางคนที่แพ้ไรฝุ่น แม้จะไม่สัมผัสถูกของเสีย แค่โดนตัวหรือซากของไรฝุ่นที่ตายไปแล้ว ก็สามารถเกิดอาการคันได้อีกด้วย
นอกจากการสัมผัสแล้ว การหายใจเอาของเสีย หรือตัวของไรฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย ก็ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จะสร้างสารภูมิต้านทานขึ้น (Antibody) เมื่อพบสิ่งแปลกปลอม ที่เข้ามาในร่างกาย โดยจะจดจำว่า ของเสีย หรือตัวไรฝุ่นเป็นสารก่อภูมิแพ้ และเมื่อเจอกับสารก่อภูมิแพ้นี้ในครั้งต่อไป ร่างกายก็จะปล่อยสารฮีสทามีน ที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ต่าง ๆ ตามมา
อาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลังแพ้ไรฝุ่น
โรคภูมิแพ้ สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายอย่าง เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อรา ขนแมว แต่ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ส่วนใหญ่ มีสาเหตุมาจากไรฝุ่น ตอนนี้ หลายคนก็เริ่มสงสัยว่า ตัวเองแพ้หรือยัง? อาการแบบไหนถึงจะเรียกว่าแพ้ไรฝุ่น? สามารถสังเกตได้ดังนี้
- ไอ เจ็บหรือระคายเคืองในลำคอ มีเสมหะร่วมด้วย
- จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก คันจมูก หรือแน่นจมูก
- คันตาบริเวณผิวหนังหรือดวงตา มีรอยแดง
- ใต้ดวงตาบวมช้ำ น้ำตาไหล
อาการแพ้ไรฝุ่น
อาจเกิดอาการต่อเนื่องทั้งปี จนอาจกลายเป็นโรคจมูกอักเสบได้ เนื่องจากของเสียที่ออกมาจากตัวไรฝุ่น อาจกระจายอยู่รอบ ๆ ตัวในอากาศตลอดเวลา แม้แต่การเดินบนพรม ขยับตัวบนที่นอน นั่งบนเก้าอี้ พฤติกรรมเหล่านี้ ก็อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้นมาได้อย่างฉับพลัน และหากหายใจเอาของเสียจากไรฝุ่น เข้าไปเป็นเวลานาน ๆ จะยิ่งทำให้อาการภูมิแพ้ไรฝุ่น แย่ลงเรื่อย ๆ เกิดการอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นโรคหอบหืดได้ ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้
- ไอ หายใจเหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบาก
- เจ็บหรือแน่นหน้าอก
- หายใจมีเสียงวี้ด
- อาการข้างต้นจะรุนแรงขึ้น เมื่อเจอกับฝุ่นควันรถ ควันบุหรี่ สารเคมี
หากมีอาการเหล่านี้หรือสงสัยว่าตนเองอาจจะเป็น ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นะคะ เพราะหากอาการแย่ลง อาจเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และหาทางรักษาต่อไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก allwellhealthcare.com